มาเบิ่งชวนชมกันเด้อ

วันเสาร์ที่ 9 กรกฎาคม พ.ศ. 2554

การปลูกเลี้ยงและการดูแลรักษา

ดินปลูก

เดิมชวนชมเป็นพืชที่มีถิ่นกำเนิดอยู่ในแถบแอฟริกาซึ่งมีสภาพแห้งแล้ง เมื่อนำมาปลูกในสภาพแวดล้อมที่ดีกว่า ดินปลูกที่ดีขึ้น ชวนชมย่อมเจริญเติบโตได้ดีกว่าในดินทรายถิ่นกำเนิดเดิม แต่โครงสร้างของต้นชวนชมก็ยังเป็นไม้อวบน้ำอยู่เช่นเดิม ไม่ได้เปลี่ยนแปลงไปตามสภาพแวดล้อม คือต้นยังอวบน้ำและทนน้ำขังไม่ได้ ดังนั้นดินที่เหมาะในการปลูกชวนชมจึงควรเป็นดินโปร่งร่วนซุย มีการระบายน้ำได้ดีคล้ายดินทราย ผู้ปลูกเลี้ยงส่วนใหญ่จึงนิยมเติมวัสดุปรุงดินต่างๆ เพิ่มลงไปในดินเพื่อให้มีความร่วนซุย เช่น ใบก้ามปู กาบมะพร้าวสับ เปลือกถั่วลิสง แกลบดิบ และทรายหยาบ สูตรดินผสมที่ใช้ปลูกชวนชมได้ดีมีหลายสูตร ดังตัวอย่างต่อไปนี้


สูตรที่ 1

ทราย

ใบไม้ผุหรือแกลบผุ

ปุ๋ยคอกเก่า

ขุยมะพร้าว

1

1

1

1

ส่วน

ส่วน

ส่วน

ส่วน

สูตรที่ 2

ทราย

ขี้เถ้าแกลบ

ปุ๋ยคอกเก่า

ใบก้ามปูผุ

1

1

1

2

ส่วน

ส่วน

ส่วน

ส่วน

สูตรที่ 3

ดิน

แกลบผุ

ปุ๋ยคอกเก่า

กาบมะพร้าวสับ

1

2

1

1

ส่วน

ส่วน

ส่วน

ส่วน

การให้น้ำ

ชวนชมเป็นพืชที่มีลำต้นอุ้มน้ำไว้ค่อนข้างมาก จึงทนต่อสภาพแห้งแล้งได้ดี หากชวนชมอยู่ในสภาพที่แฉะเกินไปหรือมีน้ำขังจะทำให้มีอาการเหี่ยวเฉา ใบเหลืองและร่วง โขดหรือหัวเน่าได้ง่าย ชวนชมเป็นไม้ที่ทนต่อสภาพแห้งแล้งและฟื้นตัวได้ง่าย เช่น ถ้างดน้ำประมาณ 1 สัปดาห์ ลักษณะต้นจะนิ่ม เมื่อได้รับน้ำและปุ๋ยอีกครั้งชวนชมจะแตกใบขึ้นมาใหม่ แต่ถ้าขาดน้ำนานเกินไปใบจะเหี่ยวหรือไหม้ตามขอบใบ ดอกจะเหี่ยวและร่วงเร็ว ชวนชมต้นที่ยังอ่อนต้องให้น้ำแต่น้อย ถ้าต้นอ่อนได้น้ำมากจะทำให้เน่าได้ง่าย การให้น้ำพอดีจะทำให้ต้นเจริญเติบโตอย่างรวดเร็ว ถ้าเป็นชวนชมต้นใหญ่ควรให้น้ำวันละครั้ง สำหรับช่วงฤดูฝนอาจเว้นการรดน้ำบ้างตามความเหมาะสม น้ำที่ใช้รดควรเป็นน้ำที่สะอาดและไม่ควรรดน้ำให้โดนดอกเพราะจะทำให้กลีบดอกช้ำและร่วงเร็ว

การให้ปุ๋ย

ชวนชมเป็นพืชที่ต้องการปุ๋ยไม่มากนัก การใส่ปุ๋ยมากเกินไปนอกจากจะสิ้นเปลืองแล้วยังทำให้ชวนชมเน่าได้ง่าย ชวนชมต้นเล็กต้องการธาตุอาหารไม่มาก ควรใส่ปุ๋ยที่มีตัวหน้าสูง เช่น 15-5-5 หรือสูตรเสมอ 15-15-15 ในปริมาณน้อยๆ ทุก 2 สัปดาห์ ประมาณ 1-2 เดือน เมื่อต้นโตเต็มที่พร้อมที่จะออกดอกจึงเปลี่ยนเป็นปุ๋ยเร่งดอกสูตร 8-24-24 ทุกๆ 2 สัปดาห์ ประมาณ 1-2 เดือนชวนชมจะออกดอก หลังจากนั้นบำรุงต้นโดยให้ปุ๋ยสูตรเสมอเดือนละครั้ง และให้ธาตุอาหารเสริมประมาณ 3 เดือนครั้ง สำหรับชวนชมที่ติดฝักควรเว้นระยะการให้ปุ๋ยให้ห่างขึ้นและลดปริมาณการให้ปุ๋ยให้น้อยลง

การตัดแต่งกิ่ง

ธรรมชาติของชวนชมจะมีลักษณะทรงต้นและการบิดตัวที่สวยงามอยู่แล้ว แต่ก็ยังมีความจำเป็นที่ต้องมีการตัดแต่งบังคับรูปทรงให้เป็นไปตามต้องการ โดยเฉพาะชวนชมที่มีอายุตั้งแต่ 3 ปีขึ้นไปหรือต้นที่โตแล้ว มีกิ่งก้านสาขาเก้งก้างไม่เป็นพุ่มสวยงาม การตัดกิ่งควรตัดกิ่งก้านที่แตกออกมาเกะกะไม่เป็นระเบียบ กิ่งที่พาดทับกันไปมา กิ่งที่ตาย กิ่งที่ฉีกหัก กิ่งที่คดไปมา และกิ่งที่เป็นโรคออกบ้าง เพื่อช่วยเปิดให้แสงและอากาศถ่ายเทได้สะดวก ลักษณะทรงพุ่มเป็นระเบียบสวยงาม สำหรับพันธุ์ที่ไม่ค่อยแตกกิ่งก้าน สูงชะลูด ลำต้นอาจหักเมื่อโดนลมแรง อาจตัดยอดไปขยายพันธุ์ เพื่อให้ส่วนโคนที่เหลือแตกกิ่งออกมาใหม่ การตัดควรใช้มีดที่คมและสะอาดตัดให้ชิดลำต้น ไม่ควรเหลือตอกิ่งไว้ ถ้ารอยตัดมีขนาดโตกว่า 1 ซม. ควรใช้ปูนแดงทาที่รอยตัดเพื่อป้องกันเชื้อรา

การเลี้ยงโขด

การปลูกเลี้ยงชวนชมในอดีตส่วนใหญ่ปลูกเลี้ยงเพื่อให้มีดอกไว้ชื่นชมเพียงอย่างเดียว เมื่อมีชวนชมพันธุ์ลูกผสมจากต่างประเทศ โดยเฉพาะสายพันธุ์ฮอลแลนด์ซึ่งมีโขดเป็นจุดเด่นและมีลักษณะสวยงาม จึงทำให้ผู้ปลูกเลี้ยงนิยมเลี้ยงชวนชมให้มีดอกดกสวยงามควบคู่ไปกับการเลี้ยงโขดให้มีโขดใหญ่สวยงาม โขดยิ่งมีขนาดใหญ่ได้สัดส่วนยิ่งจะโดดเด่นสวยงามและมีราคาแพง การทำให้ชวนชมมีโขดใหญ่จะต้องทำให้รากชวนชมสะสมอาหารไว้ให้มากที่สุด เพราะโขดของชวนชมคือส่วนหนึ่งของราก จึงต้องให้โขดเจริญเติบโตใต้ดินตั้งแต่แรกปลูก และเมื่อชวนชมอายุได้ขนาดจะต้องเปลี่ยนกระถางให้ใหญ่ขึ้นเป็นระยะทุก 4-5 เดือน เพื่อเพิ่มพื้นที่ให้โขดได้เจริญเติบโต ถ้าปลูกเลี้ยงในพื้นที่จำกัดโขดจะมีขนาดเล็ก เมื่อโขดมีขนาดใหญ่และได้รูปร่างตามต้องการแล้วจึงเปลี่ยนเป็นกระถางสำหรับโชว์โขดโดยเฉพาะ ทั้งนี้รวมเวลาจนถึงโขดมีขนาดใหญ่ตามที่ต้องการอาจต้องใช้เวลานับปี สำหรับโขดที่ปลูกโชว์ควรปลูกให้สูงเหนือดินขึ้นมาประมาณ 3 ใน 4 ส่วนของโขด

การทำให้ออกดอกและติดฝัก

เนื่องจากชวนชมเป็นไม้ที่ชอบแสงแดดจึงควรปลูกกลางแจ้งจะทำให้ชวนชมออกดอกตลอดปี ที่สำคัญคือดินปลูกต้องมีธาตุอาหารอุดมสมบูรณ์ จึงจะทำให้ชวนชมออกดอกดก ติดฝักดี เมื่อชวนชมถึงระยะที่แข็งแรงสมบูรณ์พร้อมที่จะออกดอก ให้ใช้ปุ๋ยเร่งดอกสูตร 0-25-25 พร้อมทั้งให้โฮโมนทางใบ หลังจากใส่ปุ๋ยประมาณ 1 เดือน ชวนชมจะออกดอก และระยะตั้งแต่ดอกตูมเล็กๆ จนถึงดอกบานใช้เวลาประมาณ 1 เดือน สำหรับในหน้าฝนชวนชมจะมีดอกน้อยและต้องระวังการเกิดโรคเน่า เพราะถ้าชวนชมได้รับน้ำมากจนแฉะจะทำให้เกิดโรคเน่าและตายได้

ลักษณะทั่วไปของชวนชม

       ชวนชมเป็นพืชที่มีเนื้อเยื่ออ่อน เปลือกของลำต้นบาง ต้นและกิ่งก้านกลมมียางใส จัดเป็นพืชในวงศ์ Apocynaceae ซึ่งเป็นวงศ์เดียวกับลั่นทม พืชในวงศ์นี้มีมากมายถึง 300 สกุลและมากกว่า 1,300 ชนิด มีทั้งไม้ล้มลุก ไม้เลื้อย ไม้พุ่มและไม้ยืนต้น มีถิ่นกำเนิดกระจายอยู่ทั่วโลก โดยเฉพาะในป่าเขตร้อน สำหรับชวนชมถูกจัดอยู่ในสกุล Adenium obesum มีถิ่นกำเนิดอยู่ในทวีปแอฟริกา มีหลายชื่อ เช่น Pink Bignonia, Mock Azalea, Desert Rose, Impala Lily, Kudu Lily และ Sabi Star

ลำต้น
เป็นไม้เนื้ออ่อน อวบน้ำ ต้นและกิ่งเป็นลำกลม ผิวค่อนข้างเรียบสีเขียวอมเทา เปลือกบาง แตกกิ่งก้านไม่เป็นระเบียบ ส่วนโคนของลำต้นพองออกมีขนาดรูปทรงใหญ่เล็กแตกต่างกันไปเรียกว่า " โขด " มีไว้สำหรับเก็บน้ำเพื่อรักษาสมดุลของต้น

โขด
ของชวนชมคือรากที่ใช้สะสมอาหาร เช่นเดียวกับ เผือก มัน หรือพืชที่มีหัวทั่วไป มีลักษณะบวมออกเป็นหัวขนาดใหญ่อยู่ใต้ดินหรือโผล่ขึ้นเหนือดินมีรูปทรงแตกต่างกันไป
   ใบ

เป็นใบแบบเดี่ยว ออกเวียนรอบกิ่งคล้ายกังหันหลายๆ ชั้น และออกหนาแน่นตามปลายกิ่ง ใบของชวนชมมีหลายลักษณะแตกต่างกันขึ้นกับสายพันธุ์ เช่น ใบรูปไข่ ใบรูปหอก ปลายใบมีทั้งเว้า มน แหลมและใบตัด ขอบใบเรียบ หยักหรือเป็นคลื่น แผ่นใบหนาแข็งเขียวเข้มเป็นมันหรือบางพันธุ์มีขนนุ่มคล้ายกำมะหยี่ที่ใต้ท้องใบ มีขนาดใหญ่และเล็กแตกต่างกันไป






ดอก

ชวนชมจะออกดอกเป็นช่อที่ปลายกิ่ง ช่อหนึ่งประมาณ 10-20 ดอก มีทั้งแบบบานพร้อมกันทั้งช่อและทยอยบานครั้งละ 4-5 ดอก บานได้นาน 10-20 วัน ดอกบานเต็มที่กว้างประมาณ 8-10 ซม.

          กลีบเลี้ยง มีลักษณะเป็นกลีบเล็กๆ 5 กลีบ รูปรี ปลายแหลม ติดอยู่รอบโคนดอกเหนือฐานรองดอก มีสีแดง เขียว ชมพูอมแดงหรือเหลืองอมเขียว เมื่อดอกร่วงแล้วกลีบดอกยังติดแน่นอยู่ที่ฐานรองดอก

          โคนกลีบดอกหรือหลอดดอก คือส่วนที่อยู่ต่อจากกลีบเลี้ยงขึ้นมามีลักษณะเป็นทรงกรวยกลมยาว โคนหลอดเรียวเล็กลงติดกับกลีบเลี้ยง ปลายบานออกติดกับกลีบดอก

             กลีบดอก มี 5 กลีบ เรียงติดอยู่รอบโคนกลีบดอกหรือหลอดดอกคล้ายปากแตร แต่ละกลีบมีรูปทรงหลายแบบ คือ รูปกลม รูปไข่ รูปแถบและรูปรี


             เกสรตัวผู้ อยู่ตรงส่วนโคนของหลอดดอก เป็นรูปกระโจมคลุมยอดเกสรตัวเมีย ประกอบด้วยละอองเรณู 5 อันเรียงติดกันบนก้านชูเกสรตัวผู้ มีโคนรยางค์เชื่อมต่อจากปลายเกสรตัวผู้ยาวขึ้นไปตลอดหลอดดอก 5 เส้น ภายในอับละอองเรณูนี้เมื่อแก่พร้อมที่จะผสมเกสร จะมีละอองเกสรตัวผู้มีลักษณะเป็นขุยสีเหลืองละเอียด

          เกสรตัวเมีย อยู่ตรงส่วนโคนของหลอดดอก ล้อมรอบด้วยเกสรตัวผู้ ประกอบด้วยยอดเกสรตัวเมีย ก้านชูเกสรตัวเมีย และรังไข่ ยอดเกสรตัวเมียมีรูปกลมสีขาวขุ่น มีท่อยาวลงไปที่รังไข่ซึ่งอยู่ติดกับฐานรองดอก ภายในรังไข่มีไข่อ่อน เมื่อเกสรตัวเมียพร้อมที่จะผสมเกสรจะมีเมือกเหนียวคล้ายแป้งเปียก และเมื่อมีการผสมพันธุ์ไข่อ่อนภายในรังไข่จะเจริญไปเป็นเมล็ดต่อไป

ฝักหรือผล

มีลักษณะคล้ายบูมเมอแรงหรือเขาคู่เป็นฝักสองฝักอยู่ติดกัน ปลายและโคนเรียวแหลมยาวประมาณ 10-30 ซม. ขั้วของฝักอยู่ตรงตะเข็บแนวเชื่อมระหว่างเขาทั้งสอง ฝักอ่อนมีสีเขียว เมื่อฝักแก่จะมีสีน้ำตาลอ่อนตะเข็บแนวเชื่อมจะแตกออก ภายในมีเมล็ดสีน้ำตาลอ่อนเล็กๆ คล้ายเมล็ดข้าวเปลือก มีขนสีน้ำตาลอ่อนเป็นพู่ติดอยู่ที่ปลายแหลมทั้งสองข้าง ขนที่ปลายทั้งสองนี้จะช่วยให้เมล็ดปลิวไปตามลมได้ไกล