มาเบิ่งชวนชมกันเด้อ

วันจันทร์ที่ 12 กันยายน พ.ศ. 2554

ทานตะวัน

ทานตะวัน เป็นพืชน้ำมันที่มีความสำคัญพืชหนึ่ง น้ำมันที่ได้จากการสกัดเมล็ดทานตะวันจะมีคุณภาพสูง ที่ประกอบด้วยกรดไขมันที่ไม่อิ่มตัว เช่น กรดลิโนเลนิค หรือกรดลิโนเลอิค ที่จะช่วยลดโคเลสเตอรอลที่เป็นสาเหตุของโรคไขมันอุดตันในเส้นเลือด นอกจากนี้น้ำมันทานตะวันยังประกอบด้วย วิตามิน เอ ดี อี และเคด้วย ผลผลิตส่วนใหญ่อยู่ในเขตอบอุ่น เช่น สหภาพโซเวียต อาร์เจนตินา และประเทศในแถบยุโรปตะวันออก สำหรับประเทศไทย ได้มีการส่งเสริมให้มีการปลูกทานตะวันเป็นอาชีพเสริมมากขึ้น เพื่อเพิ่มผลผลิตให้เพียงพอกับอุตสาหกรรมน้ำมันและความต้องการของผู้บริโภค ทั้งนี้เพราะทานตะวันเป็นพืชที่มีอายุสั้นระบบรากลึก มีความทนทานต่อสภาพแห้งแล้งได้ดีกว่าพืชอื่นๆ แหล่งปลูกที่สำคัญ ได้แก่ จังหวัดลพบุรี เพชรบูรณ์ และสระบุรี

สภาพแวดล้อม
     ทานตะวัน เป็นพืชที่มีการปรับตัวเข้ากับสภาพแวดล้อมของเขตร้อนได้ดีพอสมควรไม่ไวต่อแสง สามารถออกดอกให้ผลได้ทุกสภาพช่วงแสง ปลูกได้ในบริเวณที่มีการปลูกข้าวโพด ข้าวฟ่าง เมื่อทานตะวันตั้งตัวได้แล้ว จะมีความทนทานต่อสภาพแห้งและร้อนได้พอสมควร และจะเริ่มเติบโตทันทีเมื่อมีฝน นอกจากนี้ทานตะวันยังมีความทนทานต่อสภาพอากาศเย็นจัดได้ดีกว่าข้าวโพด ข้าวฟ่าง โดยเฉพาะอย่างยิ่งในระยะต้นกล้า ทานตะวันขึ้นกับดินได้หลายประเภท แต่จะขึ้นได้ดีในสภาพที่มีผิวดินหนาและอุ้มความชื้นได้ดี สามารถทนต่อสภาพความอุดมสมบูรณ์ต่ำ ตลอดจนสภาพดินเกลือและเป็นด่างจัดได้พอสมควร ซึ่งดินเหล่านี้จะมีอยู่เป็นจำนวนมากในเขตแห้งแล้งทั่วไป
ลักษณะพฤกษาศาสตร์
ทานตะวัน เป็นพืชในตระกูลเดียวกันกับเบญจมาศ คำฝอย ดาวเรือง เป็นพืชล้มลุกที่ปลูกกันมากในเขตอบอุ่น การที่มีชื่อเรียกว่า “ทานตะวัน” เพราะลักษณะการหันของช่อดอกและใบจะหันไปทางทิศของดวงอาทิตย์ คือหันไปทางทิศตะวันออกในตอนเช้า และทิศตะวันตกในตอนเย็น แต่การหันจะลดน้อยลงเรื่อยๆ หลังจากมีการผสมเกสรแล้วไปจนกระทั่งถึงช่วงดอกแก่ซึ่งช่อดอกจะหันไปทางทิศตะวันออกเสมอ
ราก เป็นระบบรากแก้วหยั่งลึกลงไปประมาณ 150 -270 เซนติเมตร มีรากแขนงค่อนข้างแข็งแรงแผ่ขยายไปด้านข้างได้ยาวถึง 60 – 150 เซนติเมตร เพื่อช่วยค้ำจุนลำต้นได้ดีและสามารถใช้ความชื้นระดับผิวดินได้อย่างมีประสิทธิภาพ
ลำต้น ส่วนใหญ่ไม่มีแขนง แต่บางพันธ์ไม่มีการแตกแขนง ขนาดของลำต้น ความสูง การแตกแขนง ขึ้นอยู่กับพันธุ์และสภาพแวดล้อม ความสูงของต้นอยู่ระหว่าง 1 -10 เซนติเมตร การโค้งของลำตันตรงส่วนที่เป็นช่อก้านมีหลายแบบ แบบที่ต้องการคือแบบที่ ส่วนโค้งตรงก่นช่อดอกคิดเป็นร้อยละ 15 ของความสูงลำต้น พันธุ์ที่ทีการแตกแขนง อาจมีความยาวของแขนงสูงกว่าลำต้นหลักแขนงอาจแตกมาจากดคนหรือยอด หรือตลอดลำต้นก็ได้
ใบ เป็นใบเดี่ยวเกิดตรงกันข้าม หลังจากที่มีการเกิดใบตรงกันข้าม 5 คู่แล้ว ใบที่เกิดหลังจากนั้นจะมีลักษณะวน จำนวนใบบนต้นอาจมีตั้งแต่ 8 – 10 ใบ รูปร่างของใบแตกต่างกันตามพันธุ์ สีของใบอาจมีสีเขียวอ่อน เขียว และเขียวเข้ม ใบที่เกิดออกมาจากตายอดใหม่ ๆ ก้านใบจะอยู่ในแนวตั้งจนกระทั่งใบมีความยาว 1 เซนติเมตร ปลายยอดจะค่อย ๆ โค้งลงจนเมื่อใบแก่แล้วก็จะโค้งลงมาเป็นรูปตัวยู (U) การสร้างใบจะมีมากจนกระทั่งดอกบาน หลังจากนั้นการสร้างใบจะลดน้อยลง
ดอก เป็นรูปจาน เกิดอยู่บนตายอดของลำต้นหลัก หรือแขนงลำต้นมีเส้นผ่าศูนย์กลางของดอกอยู่ระหว่าง 6 -7 เซนติเมตร ซึ่งขึ้นอยู่กับพันธุ์และสภาพแวดล้อม ดอกมีลักษณะเป็นแบบช่อดอกประกอบด้วยดอกย่อยเป็นจำนวนมาก ซึ่งแบ่งเป็น 2 ชนิด คือ
1.      ดอกย่อยที่อยู่รอบนอกจานดอก เป็นดอกที่ไม่มีเพศ (เป็นหมัน) มีกลีบดอกสีเหลืองส้ม
2.      ดอกย่อยที่อยู่ในจานดอก เป็นดอกสมบูรณ์เพศ มีเกสรตัวผู้ที่พร้อมจะผสมได้ก่อนเกสรตัวเมีย และสายพันธุ์ผสมเป็นผสมตัวเองน้อยมาก
ในแต่ละจานดอกจะมีดอกย่อยอยู่ประมาณ 700 – 3000 ดอก ในพันธุ์ที่ให้น้ำมัน ส่วนพันธุ์อื่น ๆ อาจมีดอกย่อยถึง 8000 ดอก การบานหรือการแก่ของดอกจะเริ่มจากวงรอบนอกเข้าไปสู่ศูนย์กลางของ ดอกบนกิ่งแขนงจะมีขนาดเล็ก แต่ถ้าเป็นแขนงที่แตกออกมาตอนแรก ๆ ดอกจะมีขนาดใหญ่เกือบเทียบเท่าดอกบนลำต้นหลัก ส่วนใหญ่พันธุ์ที่ปลูกเป็นการค้า มักจะเลือกต้นชนิดที่มีดอกเดี่ยวเพื่อความสมบูรณ์ของดอก และให้เมล็ดที่มีคุณภาพดี
เมล็ด (หรือผล) ประกอบด้วยเนื้อใน ซึ่งถูกหุ้มไว้ด้วยเปลือกที่แข็งแรงเมื่อผลสุกส่วนของดอกที่อยู่เหนือรังไข่จะร่วง ผลที่มีขนาดใหญ่จะอยู่วงรอบนอก ส่วนผลที่อยู่ข้างในใกล้ ๆ กึ่งกลางจะมีผลเล็กลง
เมล็ดทานตะวัน แบ่งเป็น 3 ประเภทใหญ่ คือ
1.      เมล็ดใช้สกัดน้ำมัน จะมีเมล็ดเล็ก สีดำ เปลือกเมล็ดบางให้น้ำหนักมาก
2.      เมล็ดใช้รับประทาน จะมีเมล็ดโตกว่าพวกแรก เปลือกหนาไม่ติดกับเนื้อในเมล็ด เพื่อสะดวกในการกะเทาะแล้วใช้เนื้อรับประทาน โดยอบหรือปรุงแต่งขนมหวาน หรือทำเป็นแป้งประกอบอาหาร หรือใช้เมล็ดคั่วกับเกลือ เทาะเปลือกออกรับประทานเนื้อข้างในเป็นอาหารว่าง เช่นเดียวกับเมล็ดแตงโม
3.      เมล็ดใช้เลี้ยงนก ใช้เมล็ดเป็นอาหารเลี้ยงนก หรือไก่โดยตรง

สภาพแวดล้อมที่เหมาะสม
  ทานตะวันชอบอากาศอบอุ่นในเวลากลางวันและอากาศเย็นในเวลากลางคืน อุณหภูมิที่เหมาะสมคืออยู่ระหว่าง 18 -25 องศาเซลเซียส สภาพความเป็นกรด – ด่าง ของดินประมาณ 5.7 – 8 สามารถขึ้นได้ในดินแทบทุกประเภท แต่ที่ขึ้นได้ดีคือดินที่มีหน้าดินลึกอุ้มน้ำดี แต่ไม่ชอบน้ำขังและไม่ชอบดินที่มีลักษณะเป็นกรด หากดินที่ปลูกมีความชื้นต่ำ ผลผลิตของเมล็ดจะต่ำลงมาก
พันธุ์
ทานตะวันมี 3 สายพันธุ์ พันธุ์ผสมเปิด ซึ่งเป็นพันธุ์เดิมที่ใช้ปลูก ซึ่งในดอกจะมีจำนวนเรณูที่ติดอยู่ที่ก้านชูเกสรตัวเมียน้อย ทำให้การติดเมล็ดด้วยการผสมตัวเองต่ำ ต้องอาศัยแมลงช่วยในการผสมเกสร จึงจะทำให้ติดเมล็ด การปลูกจึงไม่ประสบผลสำเร็จเพราะได้เมล็ดลีบ ผลผลิตต่ำเนื่องจากไม่ค่อยมีแมลงช่วยผสมเกสร แต่ปัจจุบันมีพันธุ์ลูกผสมสามารถติดเมล็ดได้ดีโดยไม่ต้องอาศัยแมลงช่วยในการผสมเกสรเพราะในดอกมีละอองเรณูที่ติดอยู่ที่ก้านชูเกสรตัวเมียมากกว่าพันธุ์ผสมเปิด 3 -4 เท่า จึงทำให้การติดเมล็ดด้วยการผสมตัวเองดีกว่าสายพันธุ์ผสมเปิด
ปัจจุบันยังไม่มีการผลิตเมล็ดทานตะวันลูกผสมในประเทศไทย ต้องนำเข้าจากต่างประเทศ ได้แก่พันธุ์ไฮซัน 33 และพันธุ์เอส 101 ซึ่งมีลักษณะของจานดอกค่อนข้างใหญ่กลีบดอกสีเหลืองสดใสและให้ปริมาณน้ำมันสูง
สายพันธุ์สังเคราะห์ซึ่งยังไม่มีการส่งเสริมในปัจจุบัน แต่ในขณะนี้อยู่ระหว่างการวิจัยของหน่วยงานวิจัย สำหรับทานตะวันที่ส่งเสริมให้เกษตรกรปลูกในขณะนี้ คือ สายพันุ์ลูกผสม
ลักษณะที่ดีเด่นของพันธุ์ลูกผสม ได้แก่
1.      ผลผลิตเฉลี่ย 254.82 กิโลกรัมต่อไร่
2.      การติดเมล็ด เฉลี่ยร้อยละ 76.3
3.      เส้นผ่าศูนย์กลาง เฉลี่ย 15.4 เซนติเมตรของจานดอก
4.      ความสูงของต้นเฉลี่ย 168.9 เซนติเมตร
5.      อายุเก็บเกี่ยว เฉลี่ย 90 – 100 วัน
6.      ปริมาณน้ำมันเฉลี่ยร้อยละ 48
 ที่มา   1-4 การเปรียบเทียบทานตะวันในท้องถิ่น จำนวน 5 พันธุ์ ฤดูแล้ง ปี 2529 ศูนย์วิจัยพืชไร่เชียงใหม่
5 -6 บริษัทแปซิฟิค เมล็ดพันธุ์ จำกัด
ลักษณะที่ดีของพันธุ์ลูกผสม คือ สามารถผสมเกสรภายในดอกเดียวกันได้สูง การติดเมล็ดค่อนข้างดี การหารังผึ้งหรือแมลงช่วยผสมเกสรจึงไม่จำเป็นมากนัก แต่ถ้ามีแมลงช่วยผสมก็มีลักษณะประจำพันธุ์ที่ทีผลต่อการดึงดูดแมลง เช่น กลีบดอกสีสดใส กลิ่นของเรณู ปริมาณและคุณภาพของน้ำหวานก็ดีกว่าพันธุ์ผสมเปิด ทนทานต่อการโคนล้มและต้านทานต่อโรคคราสนิม
ฤดูปลูก
ทานตะวันเป็นพืชที่สามารถเจริญเติบโตได้ในทุกฤดูกาล เพราะเป็นพืชที่ไม่ไวต่อช่วงแสง อย่างไรก็ตามการปลูกในบางท้องที่อาจไม่มีความเหมาะสม เช่น ในที่ลุ่มภาคกลาง ในฤดูฝนจะมีน้ำขังแฉะเกินไป หรือที่ดินในฤดูแล้งที่ไม่มีน้ำชลประทาน ดังนั้นฤดูที่เหมาะสมที่สุดมี 2 ฤดู คือ
1.      ปลายฤดูฝน ในสภาพพื้นที่ที่เป็นดินร่วนเหนียว ควรปลูกทานตะวันในปลายฤดูฝน คือ ตั้งแต่เดือนกันยายน – พฤศจิกายน แต่ถ้าสภาพพื้นที่ปลุกเป็นดินร่วนทราย ควรปลูกในเดือนสิงหาคม – ตุลาคม ซึ่งเป็นช่วงกลางฤดูฝน
2.      ฤดูแล้ง ถ้าในแหล่งปลูกนั้นสามารถใช้น้ำจากชลประทานได้ก็สามารถปลูกเป็นพืชเสริมได้โดยปลูกในช่วงเดือนพฤศจิกายน – กุมภาพันธุ์ ซึ่งเป็นช่วงหลังจากเก็บเกี่ยวข้าวแล้ว
    เนื่องจากพันธุ์ลูกผสมนี้ ดอกค่อนข้างใหญ่ เวลาเมล็ดแก่จานดอกจะห้อยลงมาและด้านหลังของจานดอกจะมีลักษณะเป็นแอ่งเหมือนกระทะก้นแบน เมื่อฝนตกลงมาน้ำฝนจะขังในแอ่งดังกล่าว จะทำให้เกิดโรคเน่าได้มากและทำให้เมล็ดเน่าเสียหาย ดังนั้นจึงควรปลูกในปลายฤดูฝน หรือในฤดูแล้ง และถามีฝนตกขังในแอ่งของจานดอก ให้เขย่าต้นเพื่อทำให้น้ำไหลออกให้หมด
การเตรียมดิน
การเตรียมดินก่อนปลูก ควรไถดินให้ลึกในระดับ 30 เซนติเมตรหรือลึกกว่านั้น เพราะว่า เมื่อฝนตกดินจะสามารถรับน้ำให้ซึมซับอยู่ในดินได้มากขึ้น การไถดินจะช่วยทำลายการอัดแน่นของดินในชั้นไถพรวน ทำให้น้ำซึมลงในดินชั้นล่างได้มากขึ้น ควรกำจัดวัชพืชในแปลงให้สะอาด และไถย่อยดินเป็นครั้งสุดท้ายให้ร่วนซุย หากมีการใส่ปุ๋ยคอกหรือปุ๋หมักลงไปพร้อมกับการย่อยดินครั้งสุดท้ายจะช่วยเสริมธาตุอาหารต่างๆ เพื่อให้พืชนำไปใช้ประโยชน์
การปลูก
     หลังจากเตรียมดินเสร็จแล้ว ควรทำร่องสำหรับหยอดเมล็ด โดยให้แต่ละร่องห่างกัน 70 -75 เซนติเมตร และให้หลุมปลูกให้ร่องห่างกัน 25 – 30 เซนติเมตร หยอดหลุมละ 2 เมล็ด แล้วกลบดินโดยให้เมล็ดอยู่ลึก 5 -8 เซนติเมตร เมื่อพืชงอกได้ 10 วัน หรือมีใบจริง 2 -4 คู่ให้ถอนแยกเหลือไว้เฉพาะต้นที่แข็งแรงเพียงหลุมละ 1 ต้น และถ้าหากดินมีความชื้นต่ำควรใช้ระยะปลูกกว้างขึ้น
     การยกร่องนี้ เพื่อเป็นการสะดวกในการให้น้ำ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการปลูกในฤดูแล้งที่ต้องการน้ำมาก ส่วนการปลูกในฤดูฝน ถ้าเป็นดินที่มีการระบายน้ำดีก็ไม่จำเป็นต้องยกร่องและใช้ระยะปลูกเช่นเดียวกับยกร่อง
   การปลูกวิธีนี้ ต้องใช้เมล็ดพันธุ์ลูกผสมจำนวน 0.7 กิโลกรัมต่อไร่ และปลูกตามระยะที่แนะนำนี้จะได้จำนวนต้น 6400 – 8500 ต้นต่อไร่
ใส่ปุ๋ย
ทานตะวันเป็นพืชที่ให้โปรตีน และแร่ธาตุสูง จึงควรใส่ปุ๋ยในปริมาณที่พืชต้องการตามสภาพดินที่ปลูกด้วยสำหรับปุ๋ยเคมีที่เหมาะสมที่แนะนำ คือ สูตร 15 – 15 – 15 หรือ 16 – 16 – 8 อัตรา 30 – 50 กิโลกรัมต่อไร่ โดยใช้ปุ๋ยรองพื้นพร้อมปลูก และใช้ปุ๋ยยูเรีย 46 – 0 – 0 อัตรา 20 -30 กิโลกรัมต่อไร่ เมื่อทานตะวันอายุได้ 30 วัน หรือมีใบจริง 6 -7 คู่ ซึ่งเป็นระยะกำลังออกดอกหากมีการตรวจวิเคราะห์ดินก่อนปลูก จะช่วยให้การใช้ปุ๋ยมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้นและในกรณีที่เป็นดินทรายและขาดธาตุโบรอน ควรใส่ผงโบแรกซ์ประมาณ 2 กิโลกรัมต่อไร่จะทำให้ผลผลิตได้มากและทำให้คุณภาพของเมล็ดทานตะวันดีขึ้น
ให้น้ำ
  น้ำเป็นปัจจัยหนึ่งที่มีผลกระทบต่อการผลิตทานตะวัน หากความชื้นในดินมีน้อยก็จะทำให้ผลผลิตลดน้อยลงด้วย การให้น้ำที่เหมาะสมแก่ทานตะวันจึงจะทำให้ได้รับผลผลิตดีด้วย ดังนั้นการให้น้ำควรปฏิบัติดังนี้
ครั้งที่ 1 หลังจากปลูกเสร็จแล้วรีบให้น้ำทันที หรือควรทำการปลูกทันที หลังฝนตกเพื่อใช้ความชื้นในดินให้เต็มที่โดยไม่ต้องรดน้ำ
ครั้งที่ 2 ระยะมีใบจริง 2 คู่ หรือประมาณ 10 -15 วัน หลังงอก
ครั้งที่ 3 ระยะเริ่มมีตาดอก หรือประมาณ 30 – 35 วัน หลังงอก
ครั้งที่ 4 ระยะดอกเริ่มบาน หรือประมาณ 50 -55 วัน หลังงอก
ครั้งที่ 5 ระยะกำลังติดเมล็ด หรือประมาณ 60 -70 วัน หลังงอก การให้น้ำควรให้น้ำอย่างเพียงพอให้ดินชุ่ม แต่ไม่ต้องถึงกับแฉะและน้ำขังการให้น้ำควรคำนึงถึงความชุ่มชื้นในดินด้วย ไม่ควรปล่อยให้ดินแห้งมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งช่วงแรกของการเจริญเติบโตจนถึงระยะติดเมล็ด
การกำจัดวัชพืช
  ควรกำจัดวัชพืชอย่างน้อย 2 ครั้ง ครั้งแรก เมื่อทานตะวันมีใบจริง 2-4 คู่ ซึ่งการทำรู่นครั้งแรกนี้ ทำพร้อมกับการถอนแยกต้นพืชให้เหลือ 1 ต้นต่อหลุม เป็นการสะดวกสำหรับเกษตรกรในการปฏิบัติและครั้งที่สองทำพร้อมกับการใส่ปุ๋ยครั้งที่สอง เมื่อทานตะวันมีใบจริง 6-7 คู่ ทำรุ่นพร้อมกับใส่ปุ๋ยและพูนโคนต้นไปด้วย ในแปลงที่มีปัญหาวัชพืชขึ้นรบกวน ควรทำการกำจัดวัชพืชเพื่อป้องกันการแย่งอาหารและความชื้นในดิน ตั้งแต่ต้นยังเล็กหรือใช้สารเคมีคุมกำเนิดหรือใช้สารเคมีคุมกำเนิดพวกอะลาคลอร์หรือเมโธลาคลอร์ฉีดพ่นหลังหยอดเมล็ดก่อนที่จะงอกในอัตรา 300 – 400 ซีซี ผสมน้ำ 4 ปิ๊ป สำหรับฉีดพ่นในเนื้อที่ปลูก 1 ไร่ โดยฉีดให้สม่ำเสมอกันสามารถควบคุมการเกิดได้นานถึง 2 เดือน และควรใช้แรงงานคน สัตว์ หรือเครื่องทุ่นแรง ทำรุ่นได้ตามความจำเป็น
ข้อควรระวัง
ห้ามใช้สารเคมีกำจัดวัชพืชอะทราซีนในทานตะวันโดยเด็ดขาด



การเก็บเกี่ยว

ทานตะวัน จะมีอายุการเก็บเกี่ยวแตกต่างกันไป ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับพืชที่ปลูก (พันธุ์ลูกผสม อายุการเก็บเกี่ยว 90 -100 วัน ) วิธีการเก็บเกี่ยวนั้นให้สังเกตจากด้านหลังของจานดอกจะเปลี่ยนเป็นสีเหลืองซึ่งเป็นช่วงการสร้างน้ำมันในเมล็ดจะเริ่มลดลง และจะหยุดสร้างน้ำมันเมื่อจานดอกเป็นสีน้ำตาลก็เริ่มเก็บเกี่ยวได้ หลังจากนั้นให้นำไปผึ่งแดดจัดๆ 1 -2 แดด โดยแขวนให้หัวห้อยลงและหมั่นเก็บช่อดอก เพื่อให้ดอกแห้งอย่างสม่ำเสมอ ถ้าเก็บเกี่ยวในช่วงที่ยังมีฝนตกชุกให้นำมาผึ่งในร่มหลายๆ วันจนแห้งสนิท แล้วจึงรวบรวมไปนวด อาจใช้แรงคนหรือสัตว์ หรือใช้เครื่องนวดเมล็ดถั่วเหลืองหรือถั่วลิสงก็ได้ เสร็จแล้วนำไปทำความสะอาดแล้วเก็บไว้ในยุ้งฉางที่ป้องกันแดด ฝน และแมลงศัตรูได้เพื่อรอจำหน่าย (ความชื้นของเมล็ดที่จะเก็บรักษาไว้ ควรไม่เกิน 10 %)
การให้ผลผลิต
การปลูกทานตะวันในพื้นที่ที่มีความอุดมสมบูรณ์ มีการบำรุงรักษาดีจะให้ผลผลิตไม่ต่ำกว่า 300 กิโลกรัมต่อไร่ แต่เฉลี่ยโดยประมาณไม่ต่ำกว่า 200 กิโลกรัมต่อไร่
โรคแมลงและศัตรูทานตะวัน
- โรคใบและลำต้นไหม้อัลเทอร์นาเรีย
- โรคโคนเน่าหรือลำต้นเน่า
แมลงศัตรูทานตะวัน
-             หนอนกระทู้ผัก
-             หนอนเจาะสมอฝ้าย
-             หนอนม้วนใบส้ม
-             หนอนเจาะลำต้นข้าวโพด
ศัตรูทานตะวัน
นก หนู และอื่นๆ นับว่าเป็นศัตรูสำคัญอีกประการหนึ่ง ที่จะทำความเสียหายให้แก่ทานตะวันโดยเฉพาะในแหล่งปลูกใหญ่ๆ  ฉะนั้นเกษตรกรจะต้องหมั่นออกสำรวจตรวจแปลงเสมอ เมื่อพบว่ามีการระบาดก็ให้รีบทำการป้องกันกำจัด โดยวิธีกลคือ การวางกับดัก การล้อมตี  เป็นต้น
ประโยชน์ของทานตะวัน
ทานตะวันไม่เป็นเพียงไม้ประดับเท่านั้น ต่อมาได้นำเมล็ดมาเป็นของขบเคี้ยว และสกัดเป็นน้ำมัน จึงทำให้กลายเป็นพืชเศรษฐกิจที่สำคัญพืชหนึ่ง การใช้ประโยชน์จากทานตะวันมีหลายลักษณะดังนี้
1.      เมล็ด ใช้บริโภคโดยตรง เพื่อเป็นแหล่งโปรตีนแทนเนื้อสัตว์ได้ในเมล็ด มีธาตุเหล็กสูงไม่แพ้ธาตุเหล็กจากไข่แดงและตับสัตว์เมื่อบดแป้งจะทำได้เป็นแป้งสีขาว มีไขมันสูง มีโปรตีนมากกว่าร้อยละ 50 ของปริมาณแป้ง
2.      เปลือกของลำต้น มีลักษณะเหมือนเยื่อไม้ นำมาทำกระดาษสีขาวได้คุณภาพดี ลำต้นใช้ทำเชื้อเพลิงได้ เมื่อไถ่กลบจะเป็นปุ๋ยเพิ่มความอุดมสมบูรณ์ให้แก่ดินได้ดี
3.      ราก ใช้ทำแป้งเค้ก สปาเก็ตตี้ ในรากมีวิตามินบี 1 และธาตุอีกหลายชนิด แพทย์แนะนำให้ใช้รากทานตะวันประกอบอาหารสำหรับผู้ป่วยเป็นโรคเบาหวาน
4.      น้ำมัน น้ำมันที่สกัดจากเมล็ดจะให้ปริมาณน้ำมันสูงถึงร้อยละ 35 และได้น้ำมันที่มีคุณภาพสูง ประกอบด้วยกรดไขมันที่ไม่อิ่มตัวเช่น กรดลิโนเลอิค หรือกรดลิโนเลนิค สูงร้อยละ 60 – 70 ซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อร่างกายในการช่วยลดคอเลสเตอรอลที่เป็นสาเหตุของโรคไขมันอุดตันในเส้นเลือดได้และยังประกอบด้วยวิตามิน เอ ดี อี และเค ซึ่งคุณภาพของวิตามินจะสูงกว่าน้ำมันในพืชอื่นๆ เมื่อเก็บไว้เป็นเวลานานจะไมเกินกลิ่นหืน ทั้งยังทำให้สีกลิ่น และรสชาติไม่เปลี่ยนแปลง นอกจากใช้เป็นน้ำมันพืชแล้วยังนิยมใช้ในอุตสาหกรรม ทำเนยเทียม สี น้ำมันชักเงา สบู่ และน้ำมันล่อลื่นเครื่องยนต์
5.      กาก กากที่ได้จากการสกัดน้ำมันออกแล้ว จะนำไปใช้เป็นส่วนผสมของอาหารสัตว์ได้ ในกากเมล็ดทานตะวันที่กะเทาะเปลือกและบีบน้ำออกแล้ว จะมีโปรตีนร้อยละ 42 และใช้เป็นแหล่งแคลเซียมสำหรับปศุสัตว์ได้ดีแต่จะมีปริมารกรดอะมิโนอยู่เล็กน้อย และขาดไลซีน จึงต้องใช้อย่างรอบคอบ เมื่อจะเอาไปผสมเป็นอาหารสัตว์ที่มิใช่สัตว์เคี้ยวเอี้ยง



ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น